ครูแนะแนวร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต นร. เสริม “เรียนดี มีความสุข”
สพม.สุรินทร์ จัดประชุมร่วมครูแนะแนวโรงเรียนในสังกัด เตรียมจัด “เช็คอินสุนทรียสนทนา” 1 กรกฎาคม 2567 นี้ หนุน!!! … นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สร้างเสริมสุขภาพจิตผู้เรียนและนักเรียน
(24 มิถุนายน 2567) นายเทิดภูมิ ยั่งยืน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ ได้รับมอบหมายจาก ดร. สำเริง บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ เป็นประธานและนำการประชุมคณะดำเนินงานการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรในสถานศึกษาการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน ประจำปี 2567 ร่วมกับตัวแทนคณะครูแนะแนว/ครูดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดฯ
เพื่อจัดเตรียมชี้แจงและกำหนดแนวทางการดำเนินงานจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรในสถานศึกษาการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ภายใต้หัวข้อ “เช็คอินสุนทรียสนทนา” ต้นเดือนกรกฎาคม นี้
ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ คณะครูได้ร่วมประชุมกลุ่มย่อยเพื่อที่จะหาแนวทางการดำเนินงานว่าจะมีการนำเสนอกิจกรรมในลักษณะใด หรือเน้นเนื้อหาด้านใดในการจะนำไปสู่การขับเคลื่อนกิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลในยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษา
โดยมีเป้าหมายของการจัดโครงการอบรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นในกลุ่มครูแนะแนว หรือครูกิจการนักเรียน ตลอดจนครูดูแลช่วยเหลือนักเรียน และครูหัวหน้าผู้ช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้ง 85 แห่ง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ ได้มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือดูแล
“คือในโรงเรียน ครูทุกคนและครูที่ปรึกษา จะมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแนะแนว เพราะบางโรงเรียนจะไม่มีครูแนะแนวโดยตรง ครูทุกคนจะต้องทำงานเรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วย ดังนั้น การเตรียมจัดโครงการในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตในโรงเรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากเรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังเป็นการสนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่นกัน นางพิมพ์ฤดี ประเสริฐสังข์ ครูโรงเรียนประสาทวิทยาคาร เปิดเผย
เผยแนวคิด “เช็คอินสุนทรียสนทนา”
ในโอกาสนี้ นางสมใจ วาพัดไทย ครูโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม เผยแนวคิดชื่อโครงการ “เช็คอินสุนทรียสนทนา” ว่า “เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นคุณครูแนะแนวหรือคุณครูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนหรือคุณครูกิจการนักเรียนได้เช็คอินอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของจิตวิทยา และเป็นการทำงานด้านสุขภาพจิต ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการเตรียมรับมือความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง รวดเร็วและถูกต้อง”
สะท้อนภาวะ “สุขภาพจิตผู้เรียน” ในปัจจุบัน
“ตอนนี้เด็กนักเรียนมีสภาวะความเครียดและอารมณ์เศร้าหรือซึมเศร้ามากขึ้นกว่าเดิม คือเด็กมีภาวะความเสี่ยง และบางคนได้เข้าสู่การรับยาที่โรงพยาบาลหรือเข้าไปใช้บริการในหน่วยงานสาธารณสุขแล้ว”
เด็กนักเรียนที่มีความเสี่ยงและเข้ามาพบครูแนะแนว
- เด็กนักเรียนที่เปิดเผยข้อมูลกับครูโดยตรง
- ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์แล้ว
- เด็กนักเรียนเข้าพบครูที่ปรึกษาของตนเอง
- บางคนไม่รู้ตัวเอง คือกำลังเข้าสู่ภาวะความเครียด
ปัญหาที่ครูพบเจอ ที่มีผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียน
- ปัญหาเรื่องเพื่อน เช่น การถูกล้อเลียน การไม่เห็นคุณค่าในตนเอง
- ปัญหาเรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ, การไม่เข้าใจกันของสมาชิกในครอบครัว จากการที่เด็ก ๆ ในปัจจุบันไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่, ความเครียดเร่องความรัก และเรื่องการเรียน นี่คือการสะท้อนภาพใหญ่ที่เกิดขึ้น และมีบางรายที่มีอาการถึงขั้นจิตเวชก็มี”
การรับมือของครู
“เวลาที่นักเรียนเข้ามาปรึกษากับครูจึงเป็นเรื่องที่ง่ายในการดูแลและให้คำปรึกษาหรือการส่งต่อ ทั้งนี้ ผลจากการสังเกตนักเรียน/ผู้เรียนที่ได้จากคุณครูที่ปรึกษาหรือคุณครูประจำรายวิชา ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมหรือการสังเกตเห็นความผิดปกติ ทั้งจาก อาการเหม่อลอย, การไม่อยากทำกิจกรรม หรือการที่เด็กนักเรียนไม่สามารถเข้ากลุ่มกับเพื่อนได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการให้ความช่วยเหลือดูแลนักเรียน
ส่วนกรณีที่โรงเรียนฯครูที่ปรึกษานักเรียนจะส่งเคสเข้ามาให้กับครูแนะแนว ซึ่งเกิดจากการที่ครูที่ปรึกษาได้สังเกตเห็นความผิดปกติและสิ่งแปลก ๆ เหมือนรับรู้ปัญหาเด็ก เช่น การเยี่ยมบ้านนักเรียนจะทำให้ครูทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียนและสามารถหาแนวทางให้ความช่วยเหลือได้ โดยครูแนะแนวจะมีการพูดคุย ให้คำปรึกษา เมื่อนักเรียนดีขึ้นเขาก็ไม่กลับมาหาเราอีก แต่หากไม่ดีขึ้น ครูแนะแนวจะต้องทำการส่งต่อในลำดับถัดไป” ครูโรงเรียนประสาทวิทยาคาร กล่าว