กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สพม. สุรินทร์ ติดตามนักเรียนออกกลางคัน !!!

สพม. สุรินทร์ ดำเนินตามนโยบาย สพฐ. เร่งติดตามการใช้ระบบดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประสานหาแนวทางนำเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาสภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ความเจ็บป่วย หรือนักเรียนที่มีปัญหาออกกลางคันกลับมาเรียน ตามแนวทางนำเสนอเพื่อการเรียนต่อนอกระบบ/ในระบบ และส่งเสริมการเรียนรูปแบบที่หลากหลายตามความเหมาะสม

.

สพม. สุรินทร์ ดำเนินตามนโยบาย สพฐ. เร่งติดตามการใช้ระบบดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประสานหาแนวทางนำเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาสภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ความเจ็บป่วย หรือนักเรียนที่มีปัญหาออกกลางคันกลับมาเรียน ตามแนวทางนำเสนอเพื่อการเรียนต่อนอกระบบ/ในระบบ และส่งเสริมการเรียนรูปแบบที่หลากหลายตามความเหมาะสม

วานนี้ (6 มิถุนายน 2567) ดร. สำเริง บุญโต  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ มอบหมายนางประดิษฐา ธนรุ่งเรืองทวี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา และนางปาณิศา เรืองแสง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สพม. สุรินทร์ ลงพื้นที่ 5 โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัด เพื่อติดตามในกรณีที่ได้ตรวจสอบข้อมูลระบบดีเอ็มซี ปรากฎข้อมูลนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ หรือระดับ ม.ต้น และ ม. ปลาย มีปรากฎรายการจำหน่ายรายชื่อนักเรียนออกจากระบบ แต่เมื่อภายหลังมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นักเรียนบางรายอายุยังไม่เกินเกณฑ์ภาคบังคับ จึงได้ทำการชี้แจงร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“การศึกษาภาคบังคับ หากไม่เรียนในระบบ ก็ต้องเรียนนอกระบบ ในกรณีที่เด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โรงเรียนจะมีการนำเสนอรูปแบบให้การศึกษาที่หลากหลายและเหมาะสมแก่ผู้เรียน ซึ่งนักเรียนอาจจะจบการศึกษาที่ช้ากว่าเดิม แต่ก็ยังได้รับวุฒิการศึกษา เราถือว่าโรงเรียนได้ช่วยเต็มที่แล้ว” นางประดิษฐา ธนรุ่งเรืองทวี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สพม.สุรินทร์ กล่าว พร้อมเสนอแนะให้โรงเรียนพิจารณาร่วมกับผู้เรียนและผู้ปกครองในแนวทางการศึกษาต่อ สกร. (การเรียนนอกระบบ)

“นักเรียนที่มีอายุ  9-15 ปี เราควรใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือในการติดตาม ลงพื้นที่และกรณีที่พบตัวตนหรือสามารถบอกได้ว่า หากนักเรียนไม่กลับมาเรียนจริง ๆ ทางโรงเรียนจะมีวิธีการหรือแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือไปในทิศทางใด เราพบว่าบางโรงเรียนมีการนำแบบเรียนหรือแบบฝึกหัดไปให้นักเรียนที่บ้าน ให้นักเรียนได้ทำที่บ้านและทำการประเมินผลการสอบ เหล่านี้คือความพยายามช่วยเหลือเด็กนักเรียน ทั้งนี้หากเด็กนักเรียนไม่อยากเรียนจริง ๆ หรืออีกกรณีก็คือ การส่งต่อ สกร.ทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย” ผู้อำนวยการกลุ่ม กล่าว

แนวทางดำเนินการเพื่อการศึกษาต่อนอกระบบ หรือ สกร.

สำหรับนักเรียนระดับชั้น ม.ต้น ทางโรงเรียนจะต้องดำเนินการจัดทำหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้เรียนและผู้ปกครองมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ เพื่อทางสำนักงานเขตฯ จะได้ดำเนินการส่งต่อผู้เรียนยังศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ในลำดับต่อไป

“ในกรณีที่เด็กนักเรียนไม่ประสงค์จะเรียนต่อ เราก็จะทำการจำหน่ายรายชื่อนักเรียนออกจากระบบได้ในกรณีที่เขาอายุพ้นเกณฑ์ คือ 16 ปีขึ้นไป แต่หากเราสามารถช่วยให้เด็กได้กลับมาเรียน เขาก็ยังได้รับวุฒิการศึกษา ม.ปลาย เมื่อเรียน สกร.

อนึ่ง การติดตามนักเรียน เราอยากจะสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าครูที่ปรึกษาที่จะนำนักเรียนกลับมาเรียนนั้น การติดตามจะมีแบบฟอร์มรายละเอียดระบุการรับทราบของผู้ปกครอง นักเรียนและผู้บริหารสถานศึกษาด้วยเพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการติดตามผู้เรียนที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง”

โดยการลงพื้นที่ติดตามนักเรียนออกกลางคันของโรงเรียนทั้ง 5 แห่งในครั้งนี้ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา ได้รับทราบบข้อมูลสำคัญในปัญหาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงออกกลางคันดังกล่าวซึ่งโดยภาพรวมนักเรียนประสบกับสภาวะความยากลำบากในสภาพครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ คุณภาพการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นต้น พร้อมทั้งเสนอแนะโรงเรียนให้แจ้งความประสงค์เพื่อขอพิจารณาให้นักเรียนได้รับทุน ฉ.ก.ช.น. จากทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ได้ ซึ่งจะได้รับทุนช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท ตามวัตถุประสงค์ นางประดิษฐา กล่าว

ลงพื้นที่ติดตามแนวทางให้ความช่วยเหลือ 5 โรงเรียน

1. โรงเรียนพญารามวิทยา

2. โรงเรียนหนองสนิทวิทยา

3. โรงเรียนสินรินทร์วิทยา

4. โรงเรียนแร่วิทยา

5. โรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม04 ในพระอุปถัมภ์