กาบเชิงวิทยา สนับสนุน นร. สร้างกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่า เป็นแกนนำขับเคลื่อนสร้างผลงานห้องเรียนแห่งป่า ภูมิปัญญา “บวรรัฐ” ชิงรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” เขตพื้นที่อีสานตอนล่าง

(22 พ.ค. 2567) ดร. สำเริง บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ มอบหมายให้นายพงศ์ศาสตร์ ไพรสินธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ เดินทางไปยังโรงเรียนกาบเชิงวิทยา อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ในการเป็นประธานกล่าวต้อนรับคณะกรรมการการประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียว เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ลงพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าของโรงเรียนจำนวน 98 คน พร้อมด้วยคณะครู กลุ่มผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และส่วนราชการท้องถิ่น พร้อมทั้งเยี่ยมชมห้องเรียนแห่งป่าและการนำเสนอผลงานฯ ของกลุ่มนักเรียนด้วยในจำนวน 8 ฐานการเรียนรู้ อาทิ

ฐานที่ 1 เข้าใจจุดเริ่มต้นของห้องเรียนธรรมชาติ เรียนรู้ป่าจากโมเดลและแผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติก่อนลงพื้นที่จริง

ฐานที่ 2 ป่าในฝันของหนู รู้จักโครงสร้าง องค์ประกอบของป่า ลักษณะของป่าไม้แต่ละประเภท

ฐานที่ 3 สัตว์ป่าน่ารู้ รู้จักนกนานาชนิดในป่าของโรงเรียน

ฐานที่ 4 ตู้ยาสามัญประจำโรงเรียน ภาพวาดและการรู้จักพืชสมุนไพร ส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ที่นำมาเป็นยารักษาโรค

ฐานที่ 5 มรดกแห่งป่า สู่ดินฟ้าอากาศ ภาพวาดต้นกำเนิดแหล่งน้ำ

ฐานที่ 6 ห้องครัวชุมชน พันธุ์ไม้ พืชผักและสัตว์ที่สามารถหารับประทานได้ตามฤดูกาล

ฐานที่ 7 สีสันแห่งป่า ถ่ายทอดสู่งานหัตถกรรม และการทำ Eco Print

ฐานที่ 8 พี่ ๆ พาทำ วัฒนธรรมไม่เผาป่า การจัดทำแนวกันไฟ การคัดแยกขยะ เป็นต้น

ทั้งนี้ โรงเรียนกาบเชิงวิทยา ได้นำเสนอผลงานวิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า เข้าประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2556 ที่เป็นจุดเริ่มต้นจากการที่โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาเสริมสร้างพลังพฤติกรรมเชิงบวกคนวัยทีน สร้างปาฏิหาริย์แห่งชีวิตสู่การให้เพื่อสังคม ภายใต้โครงการปาฏิหาริย์แห่งชีวิต (Miracle of Life) จวบจนในปี  2567 จึงได้เข้าร่วมอบรมอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน และได้เริ่มก่อตั้งเยาวชนรักษ์ป่าโรงเรียนกาบเชิงวิทยาขึ้น

ในโอกาสเดียวกันนี้ นางประมวล มาลัย คณะกรรมการการประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียวภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ว่า

“รางวัลลูกโลกสีเขียว” เป็นสถาบันลูกโลกสีเขียว ที่ได้รับการสนับสนุนการขับเคลื่อนภายใต้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่มีเจตจำนงค์ในการที่จะให้กำลังใจหรือรางวัลในผลงานประเภทชุมชน กลุ่มเยาวชน และมีการดำเนินงานภายใต้ความเชื่อที่ว่าไม่มีใครที่จะดูแลป่า ดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีไปกว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แต่ละพื้นที่

ซึ่งเดิมนั้น ปตท. เคยมีการสนับสนุนโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ที่มีประชาชนช่วยกันปลูกจิตสำนึกในการดูแลป่า จนมีความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากขึ้นตลอดจนสามารถรักษาดูแลป่าไม้ ธรรมชาติได้นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ในการดูแลรักษาป่าไม้ธรรมชาติของประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลร่วมกัน

รางวัลลูกโลกสีเขียว ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2542 และได้มีการมอบรางวัลเป็นครั้งแรกให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงอำเภอกาบเชิงของจังหวัดสุรินทร์ อาทิ ชุมชนบ้านพลวง ชุมชนเชื้อเพลิง และอำเภอปราสาท เป็นต้น”

“พวกเราเข้ามาเรียนรู้ เก็บเกี่ยวข้อมูลที่เยาวชนได้ลงมือทำ เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณา เพราะกรรมการชุดนี้มีภารกิจในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เก็บเกี่ยวข้อมูล ประสบการณ์และศักยภาพของเยาวชน เพื่อที่จะนำเสนอเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณารางวัลต่อไป”

ข้อมูล: รางวัล “ลูกโลกสีเขียว” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา ในระบบโรงเรียน
  2. กลุ่มเยาวชนนอกระบบโรงเรียน แต่มีการรวมตัวกันเป็นเยาวชนชุมชน

ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประกวด “ลูกโลกสีเขียว” จะต้องมีการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในชุมชน มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี

เกณฑ์การพิจารณา:

ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่า หรืออีสานตอนล่างใน 9 จังหวัด คณะกรรมการฯจะทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 จังหวัด เพื่อการตัดสินพิจารณาให้รางวัล

โครงสร้างคณะกรรมการพิจารณารางวัล:

  1. ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการลูกโลกสีเขียว
  2. นายอานันท์ ปันยารชุน คณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
  3. ชุดคณะกรรมการฯแต่ละภูมิภาค

“ปี 2567 ทางสถาบันลูกโลกสีเขียว ให้สิทธิแก่คณะกรรมการภูมิภาคในการพิจารณาผลงานประเภทเยาวชนให้แล้วเสร็จภายในภูมิภาคได้เลย ซึ่งต่างจากผลงานประเภทชุมชนที่จะต้องมีการส่งต่อให้คณะกรรมการประเมินคุณค่ารางวัลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาอาชีพพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง” หนึ่งในคณะกรรมการการประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียวภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กล่าว