สวายวิทยาคาร ส่งเสริมความปลอดภัยผู้เรียน ให้เข้าใจรู้-รับผิดชอบ และสิทธิพื้นฐานกฎหมายด้านประกันภัย

(18 มิถุนายน 2567) ดร. สำเริง บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ มอบหมาย ดร. วิเชียร วาพัดไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ เดินทางไปเป็นประธานรับการรายงานในพิธีเปิดกิจกรรมโครงการประกวดโรงเรียนต้นแบบด้านประกันภัยดีเด่นตามโครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย ประจำปี 2567 ณ โรงเรียนสวายวิทยาคาร
ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการให้ความรู้ด้านการประกันภัยทุกประเภท เพื่อให้นักเรียนนำความรู้สู่ชุมชน ในระหว่างนี้จึง เป็นช่วงเวลาของการจัดฝึกอบรมเพื่อการนำความรู้ไปต่อยอด นักเรียนจะทำการถ่ายทอดข้อมูลจากที่ได้ จัดเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งเข้าประกวดระดับภาคที่มีกำหนดโครงการในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งหากผลงานผ่านระดับภาคแล้วจึงเข้าสู่การประกวดผลงานในระดับประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ในทุกจังหวัดที่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. จะทำการคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบสำหรับโครงการ “โรงเรียนต้นแบบด้านประกันภัยดีเด่นตามโครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย” ขึ้น โดยในปี 2566 คปภ. ได้จัดอบรมให้กับน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนสวายวิทยาคารไปแล้ว ส่งผลให้ในปี 2567 คปภ. จึงกลับมายังโรงเรียนอีกครั้งเพื่อมาต่อยอดผลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา” นางสาวยลรดี ศาลางาม นักวิชาการประกันภัย คปภ. กล่าว พร้อมเปิดเผยต่อว่า “ก่อนหน้านี้การดำเนินเสนอผลงานจะมีรูปแบบของการจัดกิจกรรม เช่น จัดทำคลิป การประกวดเพลง เป็นต้น แต่ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอผลงานใหม่ที่เน้นเรื่องของการส่งเสริมความรู้ที่ทำให้เด็ก ๆ มีความรู้และรู้จักรวมถึงมีความเข้าใจใน คปภ. มากขึ้น
รูปแบบการดำเนินโครงการของโรงเรียนสวายวิทยาคาร
จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีทั้งสิ้นกว่า 120 คน และมีแกนนำจำนวน 8 คน ร่วมกับครู 8 ท่าน ที่จะคอยเป็นโค้ชชิ่งให้กับนักเรียน ในโอกาสนี้ นางพรพยงค์ บัวศรี ผู้อำนวยการภาค 5 อุบลราชธานี พร้อมด้วยนายสุรสิทธิ์ สิทธนพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จังหวัดสุรินทร์ และนางสาวทองใบ ตลับทอง ผู้อำนวยการ โรงเรียนสวายวิทยาคาร นำชมกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยที่จัดขึ้นภายในโรงเรียน อาทิ ห้องสมุด ห้องพยาบาล กระดานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และรูปแบบกิจกรรมที่จัดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณโดยรอบเพื่อสร้างการเข้าถึงของแหล่งความรู้และงานบริการด้านการประกันภัย
“เป้าหมาย คือ เราต้องการให้รถทุกคันที่เข้ามาในบริเวณโรงเรียนต้องมี พรบ. 100% ซึ่งหมายถึงรถของผู้ปกครอง รถของครูและรถของนักเรียน” นางพรพยงค์ บัวศรี กล่าว
“ขณะนี้เพิ่งเปิดภาคเรียน มีนักเรียนที่เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่บนท้องถนน จำนวน 5 ราย โรงเรียนของเรามีจำนวนนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนกว่า 150 คัน และเดินทางมาโรงเรียนโดยรถโดยสารรับ-ส่งเอกชน อีกจำนวน 10 คัน” ผู้อำนวยการโรงเรียนสวายวิทยาคารกล่าว
“ในเรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ ก็เล็งเห็นความสำคัญและมีความเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องของการเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียน สพม.สุรินทร์ มีความพยายามในการส่งเสริมให้โรงเรียนมีมาตรการในการป้องกันไว้ก่อน เพราะบางครั้งอุบัติเหตุก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบริเวณโรงเรียนเท่านั้น” ดร. วิเชียร วาพัดไทย ผอ.สพม.สุรินทร์ กล่าว
เกณฑ์การตัดสินผลงานที่จัดส่งเข้าประกวด
- ให้ความรู้
- มีการรณรงค์ให้เล็งเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยทุกรูปแบบ
- มีสถิติการจัดทำประกันภัยในพื้นที่เพิ่มขึ้น
- สามารถระบุผลที่เกิดจากการอบรมและการนำไปใช้
- มีการนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ยังชุมชนท้องที่ของตน (ตามเกณฑ์ที่กำหนด)
การแข่งขันระดับภาค 7 จังหวัด ประกอบด้วย
- จังหวัดสุรินทร์
- จังหวัดอุบลราชธานี
- จังหวัดศรีสะเกษ
- จังหวัดร้อยเอ็ด
- จังหวัดยโสธร
- จังหวัดอำนาจเจริญ
- จังหวัดมุกดาหาร


















